หลวงปู่ทวดหลังเตารีด

หลวงปู่ทวดหลังเตารีด รุ่นนี้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร ทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ในการสร้าง โดยนำเค้าโครงมาจากหลวงปู่ทวดเนื้อว่านรุ่นปี พ.ศ.2497 แต่สร้างเป็นเนื้อโลหะ โดยพระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพรได้ทรงรับสั่งให้อาจารย์สวัสดิ์หล่อพระหลวงปู่ทวด เนื้อโลหะหลังเตารีดขึ้นมา 3 แบบ คือพิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง และพิมพ์เล็ก และอีกส่วนหนึ่งเป็นพระปั๊มที่ด้านหลัง จะมีตัวหนังสือแบ่งออกเป็นพิมพ์ใหญ่ พิมพ์ตัว “ท” และพิมพ์ธรรมดา พิมพ์เล็ก พิมพ์มีตัว “ท” และพิมพ์ธรรมดา

หลวงปู่ทวดหลังเตารีดนี้เมื่อเวลาหล่อพระออกมาแล้วพระพิมพ์ใหญ่บางส่วนหล่อออกมาไม่ สวย ติดไม่เต็ม จึงได้มีการทำแม่พิมพ์ขึ้นใหม่ และนำพระองค์ที่ติดแม่พิมพ์ไม่เต็มมาปั๊มซ้ำลงไปใหม่ จึงเกิดเป็นพระหลวงปู่ทวดพิมพ์ใหญ่ปั๊มซ้ำขึ้นมา และพระหลวงปู่ทวดพิมพ์กลางนั้นพระส่วนใหญ่หล่อออกมาพระไม่ค่อยสวย จึงต้องนำมาทำแม่พิมพ์ใหม่และปั๊มซ้ำเกือบทั้งหมด พระพิมพ์กลางจึงเป็นพระที่มีการปั๊มซ้ำเป็นส่วนมากและมีพระพิมพ์กลางบางองค์ ที่ติดแม่พิมพ์ดีอยู่แล้ว แต่มีจำนวนน้อยไม่ได้ปั๊มซ้ำ จึงเป็นที่มาที่เรียกว่าพระหลวงปู่ทวดหลังเตารีด พิมพ์กลางปั๊มซ้ำ

ส่วนพระหลวงปู่ทวด พิมพ์หลังหนังสือนั้นเป็นพระที่ปั๊มทั้งหมดที่กรุงเทพฯ พระทั้งหมดเมื่อทำเสร็จก็ทยอยส่งไปให้อาจารย์ทิมปลุกเสก ณ วัดช้างให้ พระหลวงปู่ทวดรุ่นปี พ.ศ.2505 นี้เป็นพระเนื้อโลหะผสม บางองค์กระแสออกแดง บางองค์กระแสออกเหลือง ส่วนที่เป็นเนื้อเมฆพัดก็มีบ้างเป็นส่วนน้อย

พิธีปลุกเสกจัดขึ้นเป็นพิธีใหญ่มากในยุคนั้น โดยก่อนปลุกเสกมีงานฉลองถึง 3 วัน คือวันที่ 17-19 พฤษภาคม พ.ศ.2505 หลังจากปลุกเสกเสร็จเรียบร้อยในวันที่ 19 ตอนสายๆ มีผู้ศรัทธาไปรอรับพระกันอย่างมืดฟ้ามัวดิน จนต้องแจกพระกันทางหน้าต่าง พระที่เข้าร่วมพิธีครั้งนั้นนอกจากพระหลวงปู่ทวด พิมพ์หลังเตารีด พระหลวงปู่ทวด พิมพ์หลังหนังสือแล้ว ก็ยังมีพระหลวงปู่ทวดเนื้อว่านรุ่นพินัยกรรม เหรียญรุ่น 4 และพระเนื้อว่าน วัดเมือง ยะลา รุ่นแรก

ปัจจุบันพระหลวงปู่ทวดวัดช้างให้ พิมพ์หลังเตารีด เป็นที่นิยมเสาะหาของผู้นิยมพระเครื่องเพื่อไว้คุ้มครองเพื่อเป็นสิริ มงคล สนนราคาจึงสูงมากทุกพิมพ์

เครดิต .. แทน ท่าพระจันทร์

แสดง %d รายการ